สุสานดอนรัก

สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก

 สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก ตั้งอยู่บนถนนแสงชูโต อำเภอเมืองกาญจนบุรี เยื้องสถานีรถไฟกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 ไปทางอำเภอไทรโยค ผ่าน โรงพยาบาลแสงชูโต ตรงไปไม่ไกลจะเห็นสุสานอยู่ทางซ้ายมือ

  "สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก" หรือ "สุสานทหารสหประชาชาติ" หรือที่ชาวจังหวัดกาญจนบุรีทั่วไปเรียกว่า "ป่าช้าอังกฤษ" เป็นสุสานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 17 ไร่ บรรจุศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะถึง 6,982 หลุม โดยเชลยศึก 300 คนเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคและฝังไว้ที่ค่ายนิเกะ (ประมาณ 15 กิโลเมตร ก่อนถึงด่านเจดีย์สามองค์)ส่วนที่เหลือได้จากหลุมฝังศพเชลยศึกตามค่ายต่างๆและยังมีสุสานช่องไก่ ซึ่งรัฐบาลไทยและฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เพื่อสร้างสุสานสองแห่งนี้ขึ้น บรรยากาศในสุสานเงียบสงบและร่มรื่น พื้นที่ภายในได้รับการตกแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต บรรทัดสุดท้ายเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่างๆได้แก่

วัน Anzac Day 25 เมษายน ของชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

วัน Armistice Day 5 พฤษภาคม ของชาวเนเธอร์แลนด์

วัน Remembrance Day 11 พฤศจิกายน ของชาวอังกฤษ

ประวัติ สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก

   หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงเมื่อ พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามได้ดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถานแด่ผู้เสียชีวิตขึ้นหลายแห่งในทวีปเอเชียซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญนั้นมีอนุสรณ์สถานตั้งอยู่ในหลายประเทศ คือ ในประเทศไทย 2 แห่ง พม่า 3 แห่ง อินเดีย 6 แห่ง บังกลาเทศ 5 แห่ง ปากีสถานและศรีลังกาอย่างละ 2 แห่ง นอกจากนี้ที่กาญจนบุรียังมีอนุสรณ์สถานที่สร้างโดยทหารญี่ปุ่นเพื่อคารวะแด่ดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตในระหว่างสงคราม คือ "อนุสาวรีย์ไทยานุสรณ์ ส่วนกรรมกรชาวเอเชียอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตไปโดยไม่มีผู้ใดจดบันทึกไว้นั้น มีการสร้างอนุสาวรีย์กรรมกรและทหารนิรนามไว้ที่ป่าช้าวัดญวน และโครงกระดูกอีกส่วนหนึ่งของพวกเขาตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2


 

สุสานสัมพันธมิตรดอนรัก
    สุสานสงครามของคณะกรรมาธิการสุสานสงครามแห่งเครือจักรภพกาญจนบุรี (ดอนรัก) ที่นี่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี โดยเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น สุสานแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีรำลึกผู้เสียชีวิตในระดับนานาชาติ และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยี่ยมชมสุสานแห่งนี้ทุกวัน [ภาพถ่ายโดย: คิม แม็คเคนซี]


การสืบค้นผู้เสียชีวิต

   ในทุก ๆ สงคราม หลายประเทศต้องเผชิญกับหน้าที่ที่น่าหดหู่ในการฝังผู้เสียชีวิต ตลอดเส้นทางของทางรถไฟสายไทย-พม่า การสืบค้นหาเชลยสงครามฝ่ายพันธมิตรผู้เสียชีวิต จำนวนประมาณ 12,800 คน มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยเวลาที่ล่วงเลยไปนับตั้งแต่เมื่อพวกเขาถูกฝัง ความห่างไกลและสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก และสภาพอากาศที่ชื้นและร้อน ซึ่งนั่นหมายถึงหลุมฝังศพดั้งเดิมจะทรุดโทรมไป

    การสืบค้นผู้เสียชีวิตเริ่มต้นขึ้นทันที่ที่สงครามสิ้นสุด และเป็นความพยายามร่วมกันของประเทศฝ่ายพันธมิตร โดยเฉพาะ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ เพื่อที่จะระบุตำแหน่งบริเวณที่ฝังศพตามแนวเส้นทางรถไฟ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธมิตรต้องตรวจสอบบันทึกของฝ่ายญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ทหารที่ยอมจำนน รวมทั้งเชลยสงคราม ก่อนที่พวกเขาจะทำการส่งตัวกลับคืนประเทศ เชลยสงครามได้เก็บรักษาบันทึกโดยละเอียดระหว่างถูกจับกุม ซึ่งนี่รวมถึง บันทึกประจำวัน แบบแปลนสุสาน และรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิต และการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน พวกเขาตระหนักว่า ฝ่ายญี่ปุ่นนั้นให้ความเคารพยำเกรงแก่ผู้เสียชีวิต และหวาดกลัวต่อโรคภัยไข้เจ็บ จึงมักมีการฝังเอกสารสำคัญเหล่านี้ไว้ในบริเวณสุสาน ตัวอย่างเช่น ที่บันยาในประเทศพม่า ไม้กางเขนมีคำสลักไว้ว่า ‘ขวดที่บรรจุภาพสเก็ตช์และบัญชีรายชื่อถูกฝังไว้ที่ก้นหลุมของไม้กางเขนอันนี้’ – ข้อความนี้ถูกฝ่ายญี่ปุ่นนำไปสลักด้วยความเคารพ บนไม้กางเขนใหม่ที่พวกเขานำมาใช้แทนอันเก่า!

 งานอันน่าขนลุกของการค้นหาตำแหน่งและขุดศพขึ้นมาใหม่นั้น ถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของคณะสำรวจแห่งคณะกรรมาธิการสุสานสงครามฝ่ายพันธมิตร ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร อาสาสมัครจากอดีตเชลยสงคราม และล่ามภาษาญี่ปุ่น คณะสำรวจเดินทางออกจากบ้านโป่ง ประเทศไทย ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2488 มุ่งหน้าไปยังตานพยูซะยะในประเทศพม่า ที่ซึ่งพวกเขาเดินทางถึงในเวลาสองวันต่อมา จากที่นี่พวกเขาเริ่มทำงานตามทางย้อนกลับไปประเทศไทยตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์


กาญจนบุรี ไหว้พระ (K209)


      การระบุตัวผู้เสียชีวิตหลังจากเวลาผ่านไปสองถึงสามปีนั้น เป็นเรื่องยาก ในรูปนี้ พันจ่าโท แอล. โคดี และสิบเอก เจ. เอช. เชอร์แมน แห่งกองพันปืนกลที่ 2/4 กำลังตรวจสอบบัญชีเงินเดือนทหารและเอกสารอื่น ๆ ที่ได้มีการค้นพบจากหลุมฝังศพของเชลยสงคราม ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 โดยที่ทั้งคู่เองก็เคยตกเป็นเชลยสงครามมาก่อน และอาสาที่จะกลับมาที่นี่อีกครั้งร่วมกับคณะสำรวจแห่งคณะกรรมาธิการสุสานสงคราม


    ระหว่างทาง พวกเขาได้ปรึกษาทหารญี่ปุ่นหลายหน่วยที่ยังคงอยู่ในบริเวณนั้น และเนื่องจากทหารญี่ปุ่นบางหน่วยยังไม่ได้ยอมจำนนอย่างเป็นทางการ จึงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง นอกจากนี้ ยังมีอันตรายหลายอย่างจากป่า ซึ่งรวมถึง เสือและกลุ่มโจรท้องถิ่น

   จากการสำรวจครั้งนี้เอง ที่มีการค้นพบหลุมศพจำนวน 10,549 หลุมในสุสาน 144 แห่ง มีเพียงหลุมศพ 52 หลุม ที่หาไม่พบ จากจำนวนทั้งหมดที่คณะสำรวจออกค้นหา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ

   หลังจากที่มีการระบุตำแหน่งหลุมศพและทำเครื่องหมายไว้แล้ว การดำเนินการที่ต้องใช้เวลานานกว่าการสืบค้นก็เริ่มขึ้น ซึ่งก็คือ การนำศพเข้าพิธีฝังศพใหม่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธมิตรตัดสินใจฝังผู้เสียชีวิตไว้ที่สุสานสามแห่ง คือ ที่ตานพยูซะยะในประเทศพม่า และกาญจนบุรี และช่องไก่ที่ประเทศไทย ร่างของผู้เสียชีวิตชาวอเมริกันถูกส่งกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

   สุสานสงครามกาญจนบุรี (ดอนรัก) ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลของเชลยสงครามในสมัยสงคราม ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของตัวจังหวัด เป็นสุสานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนสุสานทั้งสามแห่ง โดยมีผู้เสียชีวิตเป็นคนจากประเทศในเครือจักรภพ 5,084 คน และทหารชาวดัตช์ 1,896 คน ฝังอยู่ที่นี่

  สุสานช่องไก่ ที่ตั้งอยู่นอกตัวเมืองกาญจนบุรี ใกล้ริมฝั่งของแม่น้ำแควน้อย บริเวณนี้ที่เคยเป็นที่ตั้งของสุสานของโรงพยาบาลในสมัยสงคราม ซึ่งได้มีการตัดสินใจที่จะไม่ย้ายสถานที่ในปี พ.ศ. 2488 ส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตชาวดัตช์จำนวน 314 คน และจากประเทศในเครือจักรภพ 1,427 คน ที่ฝังอยู่ที่นี่ เสียชีวิตขณะอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้

เมืองตานพยูซะยะ ที่ปลายทางของสถานีรถไฟในประเทศพม่า (เมียนมาร์) และก็เป็นบริเวณที่ตั้งของโรงพยาบาลในสมัยสงครามด้วยนั้น กลายเป็นสุสานสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธมิตรทุกคนที่เสียชีวิตระหว่างเมืองมะละแหม่ง (เมาะลำเลิง ในปัจจุบัน) และนีเทียะ (นีเกะ) ปัจจุบันสุสานแห่งนี้ เป็นที่บรรจุหลุมศพของผู้เสียชีวิตจากประเทศในเครือจักรภพ 3,149 คน และ ชาวดัตช์ 621 คน


แผ่นจารึกทองสัมฤทธิ์สำหรับนายทหารไม่ทราบชื่อ ซึ่งมักใช้กันในสุสานสงครามที่ประเทศไทยและพม่า
[ภาพถ่ายโดย: คิม แม็คเคนซี]

   ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคณะกรรมาธิการสุสานสงครามแห่งเครือจักรภพ/จักรวรรดิตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น หากเป็นไปได้ เชลยสงครามฝ่ายพันธมิตรที่เสียชีวิตทุกคนจะมีแผ่นหินจารึกหน้าหลุมศพของแต่ละคน ซึ่งจะมีรายละเอียดเป็นตราสัญลักษณ์ประจำกองพันรบที่สังกัด ชื่อ หมายเลขประจำตัวทหาร วันที่ อายุ และวันที่เสียชีวิต โดยจะมีลักษณะเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะมียศหรือเชื้อชาติใด หลุมศพหลายๆ แห่งของชาวอังกฤษ และออสเตรเลีย – แต่ไม่ใช่ชาวดัตช์ – จะมีคำไว้อาลัยจากครอบครัวของพวกเขาสลักไว้ ซึ่งข้อความเหล่านี้ยังคงก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนสุสานจนปัจจุบัน

   นายทหารไม่ทราบชื่อที่เสียชีวิต จะมีแผ่นหินจารึกที่สลักไว้ว่า ‘ทหารแห่งสงครามพ.ศ. 2482 – 2488: มีเพียงพระเจ้าที่รู้จัก’ และตั้งเป็นอนุสรณ์ที่ห้องศิลา ณ สุสานสงครามกาญจนบุรี โดยที่ห้องนี้จะมีรายชื่อเหล่าทหารที่ถูกเผาศพในป่า และหากมีการค้นพบเถ้ากระดูก พวกเขาจะถูกนำไปฝังไว้ที่หลุมศพรวมในสุสานด้วยกัน

   ในขณะที่ฝ่ายพันธมิตรหลายประเทศทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการสืบค้นทหารผู้เสียชีวิตของตนและนำพวกเขากลับมาทำพิธีฝังศพใหม่ บรรดาโรมุฉะที่เสียชีวิตในการสร้างทางรถไฟ ที่มีมากถึง 90,000 คนนั้นกลับไม่มีหลุมฝังศพที่ชัดเจน การขาดการจัดการทางทหารและการปราศจากผู้นำ ทำให้ พวกเขา หากไม่คลานเข้าไปเสียชีวิตในป่า ก็ถูกฝังรวม ๆ กัน ในหลุมศพรวม โดยปราศจากการจดบันทึกใด ๆ แต่ในเวลาต่อมา มีการจัดตั้งอนุสรณ์สถานเพื่อโรมุฉะขึ้นที่สุสานชาวจีน ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสุสานสงครามกาญจนบุรี

  ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา สุสานกาญจนบุรีได้กลายมาเป็นสถานที่สำคัญแห่งการร่วมรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งรวมถึง วัน แอนแซค เดย์ ในวันที่ 25 เมษายน ที่กลายมาเป็นวันเสมือนวันชาติออสเตรเลียโดยธรรมเนียมปฏิบัติ นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยี่ยมชมทุกวัน แม้ว่าสุสานแห่งนี้เป็นที่รวบรวมเอารูปแบบทางวัฒนธรรมของอังกฤษและศาสนาคริสต์เอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความน่าดึงดูดใจต่อนักท่องเที่ยวจากทุก ๆ เชื้อชาติ หรือกระทั่งคนไทย ลดน้อยลงไปแต่อย่างใดเลย

   เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการสุสานสงครามแห่งเครือจักรภพ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาสุสานทั้งสามแห่ง มีรายละเอียดของตำแหน่งที่อยู่ของสุสานทั้งสามแห่งตามชื่อ

   นางาเสะ ทาคาชิ ผู้ซึ่งเป็นล่ามญี่ปุ่น และผู้ให้การช่วยเหลือคณะสำรวจแห่งคณะกรรมาธิการสุสานสงครามฝ่ายพันธมิตร ได้รับความสะเทือนใจจากประสบการณ์ที่ได้รับ จึงได้อุทิศแรงกายแรงใจที่มีอยู่ภายหลังสงคราม เพื่อร่วมกระบวนการกลับมาคืนดีระหว่างประเทศ ที่กาญจนบุรี

ขอบพระคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก http://hellfire-pass.commemoration.gov.au

 



ล่องแพเปียกกาญจนบุรี

ทีมงานสต๊าฟ ว้าว ทูเกเตอร์ ทราเวล

Visitors: 111,635